เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
มนุษย์มีอายุน้อย บุคคลผู้ฉลาดพึงดูหมิ่นชีวิตที่น้อยนั้น
พึงเร่งประพฤติธรรมเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น
เพราะความตายจะไม่มาถึงไม่มี1
วันคืนล่วงเลยไป ชีวิตก็ใกล้หมดสิ้นไป
อายุของสัตว์ทั้งหลายก็หมดสิ้นไป
เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยจะแห้งไป ฉะนั้น2

ว่าด้วยปัญญาที่เรียกว่า ธี
คำว่า นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย อธิบายว่า ชื่อว่านักปราชญ์
เพราะมีปัญญา ชื่อว่านักปราชญ์เพราะมีปัญญาเครื่องทรงจำ ชื่อว่านักปราชญ์เพราะ
สมบูรณ์ด้วยปัญญาเครื่องทรงจำ ชื่อว่านักปราชญ์เพราะติเตียนบาป
ปัญญาตรัสเรียกว่า ธี ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความ
เลือกเฟ้น ความสอดส่องธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความ
เข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง
ความคิดค้น ความใคร่ครวญ ปัญญาดุจแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญา
เครื่องนำทาง ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาดุจปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์
ปัญญาพละ ปัญญาดุจศัสตรา ปัญญาดุจปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่าง
คือปัญญา ปัญญาดุจดวงประทีป ปัญญาดุจดวงแก้ว ความไม่หลงงมงาย ความ
เลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ชื่อว่านักปราชญ์ เพราะประกอบด้วยปัญญานั้น
อีกนัยหนึ่ง เป็นปราชญ์ในขันธ์ ปราชญ์ในธาตุ ปราชญ์ในอายตนะ ปราชญ์ใน
ปฏิจจสมุปบาท ปราชญ์ในสติปัฏฐาน ปราชญ์ในสัมมัปปธาน ปราชญ์ในอิทธิบาท
ปราชญ์ในอินทรีย์ ปราชญ์ในพละ ปราชญ์ในโพชฌงค์ ปราชญ์ในมรรค ปราชญ์ในผล
ปราชญ์ในนิพพาน นักปราชญ์เหล่านั้น กล่าว คือ พูด แสดง ชี้แจง อย่างนี้ว่า
ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย เล็กน้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่
ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน รวมความว่า นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
1 สํ.ส. 15/145/130
2 สํ.ส. 15/146/131

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :54 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้
พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
ไม่พึงประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น
นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย
[11] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เราเห็นหมู่สัตว์นี้ ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย
กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
นรชนที่เลว ผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช

ว่าด้วยหมู่สัตว์ดิ้นรนอยู่ในโลกเพราะตัณหา
คำว่า เราเห็น ในคำว่า เราเห็น ... กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก ได้แก่ เราเห็น
แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู ด้วยมังสจักขุบ้าง ด้วยทิพพจักขุบ้าง
ด้วยปัญญาจักขุบ้าง ด้วยพุทธจักขุบ้าง ด้วยสมันตจักขุบ้าง
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า กำลังดิ้นรนอยู่ อธิบายว่า เราเห็น แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ
พิจารณาดูหมู่สัตว์นี้ ผู้กำลังดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา
กระสับกระส่าย ด้วยความดิ้นรนเพราะตัณหา ดิ้นรนเพราะทิฏฐิ ดิ้นรนเพราะกิเลส
ดิ้นรนเพราะการประกอบ ดิ้นรนเพราะวิบาก ดิ้นรนเพราะทุจริต คือ
ผู้กำหนัดก็ดิ้นรนตามอำนาจราคะ
ผู้ขัดเคืองก็ดิ้นรนตามอำนาจโทสะ
ผู้หลงก็ดิ้นรนตามอำนาจโมหะ
ผู้ยึดติดก็ดิ้นรนตามอำนาจมานะ
ผู้ยึดถือก็ดิ้นรนตามอำนาจทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :55 }